ฮาวทู “ฟัง” มิวสิคสตรีมมิ่ง #1
ทุกวันนี้คำว่าสตรีมมิ่ง ดูไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับใครหลาย ๆ คนแล้ว เพราะเราใช้สตรีมมิ่งจากผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตต่าง ๆ กันอยู่ในชีวิตประจำวันแทบทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นอินเตอร์เน็ต ดูภาพยนตร์ ดูรายการทีวี หรือฟังเพลง จนเป็นเรื่องปกติ เรียกว่าใครมีสมาร์ทโฟนในมือก็ถือว่าเป็นผู้ใช้บริการสตรีมมิ่งกันแทบทั้งนั้น
บทความนี้ผู้เขียนอยากจะมาแชร์ประสบการณ์ในหลาย ๆ ประเด็น สำหรับการฟังเพลงผ่านอินเตอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า ”มิวสิคสตรีมมิ่ง” แบบไม่ต้องอิงวิชาการให้ปวดหัว เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังเข้าสู่โลกของมิวสิคสตรีมมิ่งว่าจะเราฟังกันแบบมีคุณภาพได้อย่างไร ทั้งจากการฟังผ่านสมาร์ทโฟน อุปกรณ์พกพา ไปจนถึงการฟังกับอุปกรณ์เครื่องเสียงภายในบ้าน
ขอเกริ่นถึงคำว่าสตรีมมิ่ง (streaming) ก่อนสักเล็กน้อย “สตรีมมิ่ง” หมายถึงเทคโนโลยีการเล่นข้อมูลภาพและเสียง ผ่านอินเทอร์เน็ตจากช่องทางของผู้ให้บริการต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีการดาวน์โหลดข้อมูลทั้งหมดมาลงในเครื่องก่อน และการจะเล่นสตรีมมิ่งให้มีคุณภาพ ลื่นไหลไม่สะดุด ก็ขึ้นอยู่กับความเร็วของอินเตอร์เน็ตเป็นสำคัญ ซึ่งหมดห่วงสำหรับความเร็วอินเตอร์เน็ตในยุคนี้ที่สามารถรับ-ส่งข้อมูลได้เกิน 10 Gbps กันแล้ว (อุปกรณ์ต้องรองรับด้วย)
มิวสิคสตรีมมิ่ง (Music Streaming) ก็คือ การเล่นข้อมูลเพลงบนอินเตอร์เน็ตผ่านเซิฟเวอร์ของผู้ให้บริการค่ายต่าง ๆ มีทั้งในรูปแบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ซึ่งเราต้องสมัครสมาชิกและเสียค่าใช้จ่ายแบบรายเดือน ซึ่งอัตราคาบริการไม่ได้แพงอะไรเลย เฉลี่ยตกอยู่ที่ราว ๆ ร้อยถึงสองร้อยกว่าบาทเท่านั้น
ในบ้านเรานั้นมีผู้ให้บริการมิวสิคสตรีมมิ่งอยู่มากมาย แต่การฟังที่เน้นด้านคุณภาพเสียงเป็นสำคัญ ผู้เขียนได้ทดลองฟังเปรียบเทียบจนได้รายชื่อผู้ให้บริการมิวสิคสตรีมมิ่งที่มีคุณภาพเสียงดีในระดับที่ฟังแบบเอาเรื่องได้ ดังต่อไปนี้
หมายเหตุ มี Qobuz ผู้ให้บริการมิวสิคสตรีมมิ่งอีกรายที่คุณภาพเสียงดีมาก แต่ยังไม่เปิดให้บริการในบ้านเรา ซึ่งหากจะเล่น จำเป็นต้องใช้ VPN (เครือข่ายส่วนตัว) ผู้เขียนจึงยังไม่ขอแนะนำในตอนนี้
เดี๋ยวจะมาขยายความต่อในตอนต่อๆ ไปว่าแต่ละรายมีจุดเด่นและความน่าสนใจอย่างไร แต่บอกไว้ก่อนว่าเรื่องของคุณภาพเสียงมันมีมากกว่าการดูตัวเลข เช่น จำนวนบิตเรต เพียงอย่างเดียว รวมถึงการปรับแต่งค่าต่าง ๆ ในแอปพลิเคชั่นและอุปกรณ์ เพื่อให้คุณภาพเสียงออกมาดีที่สุด
วิธีที่ง่ายที่สุด คือดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นสำหรับเล่นมิวสิคสตรีมมิ่งมาไว้ในสมาร์ทโฟนหรือแทปเล็ต หรือดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์ ไม่แนะนำให้ฟังผ่านเวปไซต์ของผู้ให้บริการเพราะคุณภาพเสียงจะสู้การฟังผ่านแอพลิเคชั่นไม่ได้ อีกทางหนึ่งก็คือการฟังผ่านเครื่องเล่นเพลงแบบพกพา (DAP) ที่เป็นระบบแอนดรอยด์ ก็สามารถลงแอปพลิเคชั่นฟังเพลงเหล่านี้ได้เช่นกัน
ส่วนการจะฟังมิวสิคสตรีมมิ่งกับชุดเครื่องเสียงภายในบ้าน สามารถทำได้หลายวิธีทั้งแบบไร้สายผ่าน WiFi, ฺบลูทูธ หรือแบบใช้สาย LAN ผ่านช่อง Ethernet ขึ้นอยู่กับว่าท่านใช้อุปกรณ์อะไรอยู่ อย่างเช่น หากเครื่องเสียงมีภาครับสัญญาณบลูทูธ ก็สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนเพื่อเล่นมิวสิคสตรีมมิ่งได้ หรือท่านที่มีเน็ตเวิร์คเพลเยอร์ก็สามารถเล่นมิวสิคสตรีมมิ่งผ่านแอปพลิเคชั่นของเครื่องนั้น ๆ ได้เลย เป็นต้น
ตอนต่อไป จะมาเล่าถึงการเลือกใช้งานและปรับแต่งอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับการฟังมิวสิคสตรีมมิ่ง ที่จะช่วยเสริมเขี้ยวเล็บให้กับคุณภาพเสียงได้ดียิ่งขึ้น ช่วยให้ท่านฟังเพลงอย่างมีอรรถรสและมีความสุขมากขึ้น