ศัพท์ยอดฮิตในวงการเครื่องเสียง

By สุโสภาภรณ์ แดงอุบล

วันนี้มาเสนอคำศัพท์สำหรับคนดูหนังเบื้องต้น จะได้คุยกันเข้าใจและเอาไว้คุยกับเพื่อนๆ อธิบายให้ใครฟังได้ง่ายๆ ไม่เข้าใจผิด และอธิบายให้ใครฟังได้ถูกว่าชอบแบบไหน

เบสลงลึก: เบสลึกคือ เบสที่ลงต่ำๆเบสแบบนี้จะไม่กระแทก ได้ยินไม่ชัด แต่รู้สึกอิ่ม รู้สึกฟังสบาย เสียงเบสที่ลึกมากๆ จะให้ความรู้สึกว่าถูกดูด ถูกดึง และหวิวๆเวลาได้ฟัง แต่จะไม่รู้สึกถูกกระแทก เช่นเสียงของหนักตกลงในน้ำ เสียงพลุหรือปืนใหญ่ที่ได้ยินจากที่ไกลมากๆ ได้ยินไม่ชัด แต่ลงลึก อึกๆๆ แต่ไม่มีอิมแพคชัดเจน เบสแนวนี้มักจะนำไปฟังเพลงร้อง เพลงช้าดี ดูคอนเสริต์ดี ฟังสบาย ลุ่มลึก เช่นซับบางยี่ห้อ (jl)

เบสต้น: เบสต้นคือเบสช่วงที่เราได้ยินชัดเป็นลูกๆ ตับๆๆๆๆๆๆ กระแทกๆเข้าที่หน้าอกชัดๆ เบสต้นที่ชัด จะไม่ลงลึก และมักจะไม่แผ่ (ถ้าแผ่จะได้ยินเบสต้นไม่ชัด) เช่นเสียง ปืนใหญ่เวลาฟังใกล้ๆ เสียงกระแทกของบีทเพลงในผับ เสียงกีตาร์เบส เสียงกลองในไลฟ์สด

อิมแพคดี: อิมแพคดีคือเบสอะไรก็ตามที่ได้ยินเบสในช่วงความถี่ต้น 50-80 Hz ชัด จนรู้สึกว่าเบสกระแทก และชัด หนัก หรือกล่าวอีกนัยนึงคือ เบสที่มีอิมแพคดี ก็เป็นเบสที่ใหเบสช่วงต้นที่ดีนั้นแหละ เบสพวกนี้มักฟังแล้วจุก หนัก เร็ว ตับๆ เช่นเสียงปืนใหญ่ เสียงนวมชกกระสอบทราย เสียงลูกเหล็กกระแทกโลกหะ

หัวโน๊ตชัด: หัวโน๊ตชัดเป็นคำเรียกที่นิยมในวงการฟังเพลง 2 แชนแนล กล่าวคือ เวลาฟังเพลงที่มีซับหรือเบส แล้วความถี่ต่ำนั้นไม่ไปกวนกับย่านกลางแหลม แม้ว่าจะมีความถี่ต่ำจากซับ แต่ก็ยังได้ยินเสียงกลางแหลมได้ชัด ไม่ถูกกวนหรือกลบจากความถี่ต่ำ ลักษณะของเบสแบบนี้มักเป็นซับตัวเล็กๆ ซับที่เน้นฟังเพลงเช่น rel, velodyn, martin dynamo แต่ซับแนวนี้มักจะไม่มีอิมแพค และเบสต้นไม่ดี

เบสแป๊ก: แป๊กหรือพล่อกๆ คือลักษณะของซับที่ราคาไม่แพงมาก และลงลึกได้ไม่มาก แต่เอามาดูหนังอัดหนักๆ เปิดแรงๆ เจอความถี่ต่ำลึกมากๆ แล้วซับรับไม่ไหว ช่วงชักเวลาเบสลงแล้วรับไม่ไหว ทำให้ได้ยินเสียงป๊อก หรือพล่อกออกมาในบางช่วง มักเจอในซับระดับเริ่มต้นหลายๆยี่ห้อ เทสได้โดยการใช้หนังเท่านั้น หากใช้เพลงจะไม่เจอ เพราะเบสไม่ม่กและไม่ลึกพอที่จะทำให้มันพล่อก (เทสง่ายขึ้นถ้าใช้ avr หรือ pre ที่ให้สัญญาณเบสแรงๆ เช่น harman)

แหลมพริ้ว: แหลมพลิ้วคือ เสียงในย่านปลายแหลม เช่นเสียงร้องของผู้หญิง เสียงฉาบ เสียงสแนร์ เสียงกีตาร์ เสียงคียบอร์ด เปียโน หรือเครื่องสายต่างๆ ทีมันชัด ได้ยินทอดยาว มีหางเสียง ไม่ทึบ ไม่มีเสียงความถี่ต่ำมากวน ทำให้ฟังแล้วรู้สึกว่ามันใส เช่นเสียง เคาะแก้วแล้วมันกังวานดังวิ้งๆๆๆๆ หรือเสียงคนเล่นเพลงอคูสติกใสๆ เสียงแนวนี้เช่น Rotel

แหลมจัด: คือพัฒนาการอีกขั้นนึงของแหลมพลิ้ว คือมันจะชัดและให้แหลมที่เยอะกว่าคำว่าพลิ้ว กล่าวคือ คม ชัด ให้ความรู้สึกเสียดหู ทนฟังนานไม่ค่อยได้ เช่นเสียงนกหวีด เสียงเลื่อยไฟฟ้าที่กำลังตัดโลหะ เสียงจรวด หรือเสียงกระจกแตก หรือซิสเต็มที่เอาลำโพงและแอมป์ที่เด่นย่านแหลมทั้งคู่มาจับกันก็จะให้เสียงบาดหูได้

แหลมกุด: คือเสียงแหลมที่ไปได้นิดเดียวแล้วหายวับไป ไม่ทอดยาว หรือพูดอีกนัยคือ เสียงของซิสเต็มที่ย่านกลางต่ำมันมากกว่าย่านแหลม แหลมจึงไม่ได้ยิน หาย เช่นเสียงของคนที่ตะโกนในน้ำ (อันนั้นกุด 100%)

เสียงดาร์ก: คือเสียงของซิสเต็มใดๆก็ตามที่ให้เสียงย่านโทนต่ำ มากกว่าย่านโทนแหลม หรือพูดง่ายๆคือเสียงมันหนักไปทางเบส หรือย่านความถี่ต่ำเยอะๆ จนแหลมโดนกลบไปหมด ฟังแล้วจะรู้สึกว่ามันไม่สดใส ได้ยินเสียงแหลมน้อย เช่นเสียงของดนตรีอิเลคโทรนิคส์บางประเภทเช่น drum & bass หรือแนว โกธิก หรือเสียงสำรอกของดนตรี เดธ เมทัล เช่นเครื่องเสียงของ harman มักให้เสียงไปทางโทนนี้

เสียงสว่าง (bright) : ตรงกันข้ามกับเสียงดาร์กคือ ย่านกลางแหลมมีปริมาณและชัดกว่าย่านต่ำ เช่นคอนเสิรต์ร้อควง 25 hour หรือลำโพง klipsch จับกับ avr yamaha

เสียงเรียบ flat ไม่มี color: คือเสียงที่ให้ความเป็นธรรมชาติสูง ไม่เด่นไปทางย่านใดย่านนึงเลย หรือหากจะพูดอีกทางนึงคือ เสียงแหลม หรือเสียงต่ำนั้นกุดทั้งคู่ แต่ให้เสียงเน้นไปทางเสียงกลางเท่านั้น เลยทำให้คนฟังรู้สึกว่าฟังแล้วราบเรียบ ไม่ตื่นเต้น ไม่แหลม ไม่ตึ้บ แต่ได้ความรู้สึกฟังได้นาน ไม่ล้าหู เช่นเครื่องเสียงบางยี่ห้อก็ให้เอกลักษณ์ในความเสียง flat

เสียงอุ่น หวาน: คือเสียงที่ให้เสียงไปทางโทนกลางต่ำมากกว่ากลางแหลม แต่ปริมาณยังไม่มากเท่ากับเสียงดาร์ก คือให้เสียงกลางต่ำกำลังดี จนทำให้เรารู้สึกว่าฟังเสียงนั้นๆแล้ว มันหนา อุ่น และฟังสบาย ส่วนใหญ่เสียงอุ่น มักคู่กับหวาน และมักคู่กับสปีดที่เนิบช้า ไม่เร็ว ฟังแล้วรู้สึกอยากหลับตาและเอนหลังนอน ฟังสบาย แต่จะแลกมากับสปีดที่ช้า และแหลมที่น้อย รวมถึงความชัดเจน จะแจ้งก็จะน้อย บุคลิคแนวอุ่นหวานมักพบในลำโพงแนวฟังเพลงแทบทุกตัว

เสียงมีไดนามิค: คือเสียงที่ให้เสียงเงียบๆแล้วกระแทกทันทีได้แรง หนัก ชัด เช่นเวลาเราดูหนังผีแล้วมีฉากเงียบๆ แล้วผีโผล่ออกมามีเสียงเปรี้ยงดังๆแรงๆ ถ้าเราได้ยินเสียงนี้ชัด หนัก แรง เก็บตัวเร็ว แปลว่าซิสเต็มนั้นไดนามิคดี แต่ตรงข้าม หากไดนามิคไม่ดี เราจะได้ยินเสียงกระแทกฉับพลันเช่นนี้ ช้า เนิบ เบาๆ ไม่แรง และฟังสบายแทน

ซิสเต็มที่ไดนามิคดีมักจะเจอในซิสเต็มดูหนัง ส่วนซิสเต็มฟังเพลงหากไดนามิคดีจะฟังเพลงร๊อค ออเครสตร้าดี แต่ฟังเพลงช้า เพลงร้องได้ไม่ดี

เบสช้า: คือซิสเต็มที่ให้ปริมาณเบสมาก แต่ช้า ทำให้ตามบีทดนตรี หรือไลน์เบสไม่ทัน จนเราได้ยินเสียงเบสรวมกันออกมาเป็นก้อนใหญ่ๆแทนที่จะได้ยินเป็นเบสตามจังหวะที่เกิดขึ้นจริงๆ

เบสแผ่: ลักษณะคล้ายเบสช้า เบสแผ่มักมาคู่กับเบสช้า เบสจะออกมาเป็นเสียงดังคลืนๆ คล้ายๆเสียงคลื่น เป็นลักษณะเฉพาะตัวของซับบางยี่ห้อ เช่นซับ paradigm รุ่นเก่า

เบสเก็บตัวเร็ว: หรือเบสเร็ว คือเบสที่กระแทกแล้วหยุดทันที จบเร็ว เบสตามเสียงบีทเพลงหรือความถี่ต่ำได้ตรงจังหวะ เบสลักษณะนี้ ฟังเพลงช้าไม่ดี เพราะเบสต้นมักจะชัด จนไปกวนเสียงกลางแหลม และไปแสดงตัวเด่นเหนือกลางแหลม แต่เบสลักษณะนี้มักจะดูหนังดี สนุก เพราะกระชับ เช่นซับตู้ปิด หรือซับดูหนังเช่น Procella

หรือเป็นซับที่ใช้ในงาน pa ดีๆ งานเล่นสด พวกนี้จะเก็บตัวเร็ว