จะเริ่มต้นเล่น Hi-Res Audio ยังไงดี ?
หลังจากที่เราได้ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ Hi-Res Audio กันไปบ้างแล้ว ในบทความ “Hi-Res Audio” คืออะไร … สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้น อาจมีหลายอย่างที่ทำให้รู้สึกว่ายังลังเล
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความหมายที่แท้จริงของ Hi-Res Audio, แต่ละฟอร์แมตและตัวเลขต่าง ๆ ของมันหมายความว่าอย่างไร, จะเล่นในอุปกรณ์อะไรได้บ้าง หรือแม้แต่จะเริ่มต้นยังไงดี
เช่น เราต้องการระบบที่มีขนาดใหญ่หรือเล็กกะทัดรัด เราอยากจะให้เป็นระบบที่สามารถพกพาได้หรือไม่ และที่สำคัญเราเตรียมงบประมาณเอาไว้สักเท่าไร
เลือกใช้สมาร์ทโฟน
ถ้าเน้นการฟังเพลงแบบพกพาติดตัว ปัจจุบันสมาร์ทโฟนเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ตอบโจทย์การเล่น Hi-Res Audio ได้เป็นอย่างดี สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์รุ่นใหม่ ๆ ของยี่ห้อระดับแนวหน้าส่วนใหญ่จะรองรับการเล่นไฟล์ Hi-Res Audio ระดับ 24bit/96kHz เป็นอย่างน้อย
สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์บางรุ่นรองรับในระดับที่สูงกว่านั้น เช่น 24bit/192kHz หรือ 32bit/384kHz บางรุ่นบางยี่ห้อเช่นของ Sony หรือ LG รองรับไฟล์ DSD ด้วยต่างหาก
บางรุ่นเลือกใช้ชิป DAC (D/A Converter) คุณภาพสูงที่สามารถเล่น Hi-Res Audio ได้แบบ native (เล่นได้โดยตรง ไม่ต้องแปลงเป็นฟอร์แมตอื่นก่อน บางรุ่นอย่างเช่น LG V30 Series เพิ่มการรองรับฟอร์แมต MQA ด้วยต่างหาก
อย่างไรก็ดีการเล่น Hi-Res Audio ในสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ก็มักจะได้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าเมื่อเราใช้แอปฯ เล่นเพลงคุณภาพดี หรือดีกว่าแอปฯ เล่นเพลงที่ติดมากับเครื่อง อย่างเช่น USB Audio Player Pro
สำหรับไอโฟนนั้นโดยพื้นฐานของ iOS ยังไม่สามารถเล่นไฟล์ Hi-Res Audio ยอดนิยมอย่าง flacหรือ .dsf (ไฟล์ฟอร์แมต DSD) ได้โดยตรง ดังนั้นจำเป็นต้องเล่นผ่านแอปฯ เล่นเพลงที่รองรับ Hi-Res Audio เช่น Onkyo HF Player, NePlayer, iAudioGate หรือ HibyMusic เป็นต้น
แต่การเล่นจะไม่เป็นแบบ native เนื่องจาก iOS นั้นสนับสนุน sample rate แค่ 48kHz แต่ถ้าหากจะเล่นแบบ native จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับ External DAC หรือ Mobile DAC ที่ออกแบบมาให้เข้ากันได้ทางพอร์ต Lightning ตัวอย่างเช่น Audioquest รุ่น Dragonfly หรือ iFi nano iDSD เป็นต้น
เลือกใช้แท็บเล็ต
ในปัจจุบันมีแท็บเล็ตที่รองรับการเล่นไฟล์เสียง Hi-Res Audio ออกมาในตลาดแล้วหลายรุ่น ตั้งแต่รุ่นแรก ๆ อย่าง Granbeat แท็บเล็ตที่มาจากผู้ผลิตเครื่องเสียงอย่าง Onkyo
หรือรุ่นใหม่อย่าง Huawei MediaPad M5 Series ที่ได้รับความร่วมมือกับแบรนด์เครื่องเสียงไฮไฟอย่างฮาร์แมนการ์ดอน ตัว Samsung Galaxy Tab S4 ที่เปิดตัวไปเมื่อต้นปีก็รองรับ Hi-Res Audio ด้วยเหมือนกัน
การใช้งานแท็บเล็ตก็คล้ายคลึงการสมาร์ทโฟนตรงที่แท็บเล็ตแอนดรอย์ส่วนใหญ่จะรองรับ Hi-Res Audio ระดับ 24bit/96kHz หรือ 24bit/192kHz กันอยู่แล้ว แต่ก็สามารถเชื่อมต่อกับ DAC ภายนอกเพื่ออัปเกรดคุณภาพเสียงได้
ขณะที่แท็บเล็ต iOS หรือ iPad ทั้งหลายก็เหมือน iPhone นั่นแหละครับ ที่รองรับ sample rate สูงสุดแค่ 48kHz แนวทางการเล่นก็เหมือนกับ iPhone คือต้องพึ่งพาแอปฯ เล่นเพลงชั้นดี หรืออาจจะเสริมด้วยการต่อ DAC ภายนอกแบบ iPhone ก็ทำได้ด้วยเช่นกัน
เลือกใช้เครื่องเล่นเพลงแบบพกพา
ถ้าพูดถึงเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาที่เล่นไฟล์เสียง Hi-Res Audio ได้ เครื่องเล่น Sony Walkman หลาย ๆ รุ่น และเครื่องเล่นของยี่ห้อ Astell & Kern เป็นที่รู้จักแพร่หลายในปัจจุบัน
ไม่เพียงแค่ 2 ยี่ห้อที่พูดถึง ยังมีเครื่องเล่นพกพาอีกหลายรุ่นที่มาจากแบรนด์เล็ก ๆ แต่ตั้งใจทำเครื่องเสียงพกพารองรับ Hi-Res Audio ออกมาได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น Fiio, Cayin, Questyle, AR, Lotoo, Shanling ฯลฯ ส่วนใหญ่จะรองรับการเล่น Hi-Res Audio 24bit/192kHz เป็นอย่างน้อย รองรับการเล่น DSD บางรุ่นอย่างรุ่นใหม่ที่ออกมาในช่วง 1-2 ปีนี้ของ Sony ยังรองรับฟอร์แมต MQA ด้วยต่างหาก
คุณภาพการใช้งานและคุณภาพเสียงที่แตกต่างกันไปในแต่ละรุ่น แต่ละระดับราคา ซึ่งมีให้เลือกตั้งแต่ไม่กี่พันบาทจนถึงราคาหลักแสนบาทก็มี ก่อนตัดสินใจซื้อแนะนำให้ไปลองเล่นตัวจริงว่าถูกใจส่วนของ UI & UX หรือไม่ จากนั้นก็ลองฟังเสียง ถ้าคำตอบคือใช่ก็จ่ายเงินแล้วหิ้วกลับบ้านได้เลย จะรออะไรล่ะครับ
เลือกใช้คอมพิวเตอร์และ USB DAC
ในกรณีเลือกใช้คอมพิวเตอร์เล่นไฟล์ Hi-Res Audio ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ (desktop) หรือพกพาได้ (laptop) ก่อนอื่นสิ่งแรกที่ต้องพิจารณาคือ ซอฟต์แวร์ที่จะใช้เล่นเพลงรองรับการเล่นไฟล์เสียง Hi-Res Audio หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น iTunes ของ Apple นั้นไม่รองรับการเล่นไฟล์เสียง Hi-Res Audio
สำหรับคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ macOS ซอฟต์แวร์ที่แนะนำให้ใช้เล่นไฟล์เสียง Hi-Res Audio ก็มีหลายตัว ยกตัวอย่างเช่น Roon, Audirvana +, JRiver Media Center, Decibel, Pure Music หาเป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows โดยเฉพาะ Windows 10 แนะนำให้ใช้ Roon, JRiver Media Center หรือ Foobar2000
แม้ว่าคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่จะมี DAC ในตัวอยู่แล้ว แต่โดยปกติเราจะไม่เลือกใช้งานมัน เนื่องจาก DAC ตัวคอมพิวเตอร์ส่วนมากจะมีคุณภาพอยู่ในระดับตั้งแต่ คุณภาพต่ำถึงพอใช้งานได้ อีกทั้งมันอาจถูกรบกวนจากระบบต่าง ๆ ในตัวคอมพิวเตอร์เอง เช่น ระบบภาคจ่ายไฟ ตลอดจนการทำงานของวงจร clock ทำให้ DAC ในตัวคอมพิวเตอร์ให้คุณภาพเสียงออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ควร
ดังนั้นนอกจากตัวเครื่องคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์เล่นเพลงแล้ว DAC แยกชิ้นภายนอกก็เป็นอีกอุปกรณ์หนึ่งที่ต้องพิจารณา การใช้งานกับคอมพิวเตอร์ DAC ที่ใช้จะต้องเป็น USB DAC ที่เล่นไฟล์เสียง Hi-Res Audio ได้
เราอาจนำ DAC หรือ DAC/AMP พกพาที่ใช้งานกับสมาร์ทโฟนมาใช้งานกับคอมพิวเตอร์ได้เช่นกัน อย่างเช่น Audioquest DragonFly, iFi micro iDSD, ADL A1 ฯลฯ หรือจะเป็น USB DAC ขนาดเล็กหรือขนาดตั้งโต๊ะอย่างเช่น Meridian Explorer 2, Marantz HD-DAC1, Marantz HD-AMP1, Audiolab M-One, Resonessence Labs Veritas ฯลฯ
วิธีโดยสังเขปก็คือการจัดเก็บไฟล์เอาไว้ในอุปกรณ์ประเภท NAS (Network Attached Storage) หรือคอมพิวเตอร์+external storage เชื่อมต่อกับระบบ network แล้วติดตั้งซอฟต์แวร์มีเดียเซิฟเวอร์ อย่างเช่น Minimserver (ฟรี), Twonky Media Server, Jriver Media Center ฯลฯ
เมื่อมีอุปกรณ์เก็บข้อมูลไฟล์เพลงแล้ว ที่เหลือก็เป็นเครื่องเล่น เครื่องเสียงที่รองรับการสตรีมไฟล์หรือ Music streamer นั้นในปัจจุบันก็มีหลากหลายรูปแบบ หลายรุ่นหรือยี่ห้อ
เช่นเครื่องเสียงของยี่ห้อ Bluesound, Marantz, Denon, Moon, Linn ฯลฯ หรือในเอวีรีฟเวอร์สมัยใหม่หลายรุ่นก็รองรับการสตรีมไฟล์เสียง Hi-Res Audio ผ่านระบบ network แล้วครับ
ยังมีเรื่องราวปลีกย่อยอีกมากมายเกี่ยวกับระบบเสียง Hi-Res Audio ซึ่งผมตั้งใจจะหยิบมาเขียนแยกต่างหากออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการครอสโอเวอร์ระหว่างยุคอะนาล็อกและดิจิทัลด้วยการแปลงเสียงจากแผ่นเสียงหรือเทปอะนาล็อกให้เป็นไฟล์ดิจิทัล หรือการเลือกหูฟัง, แอมป์, ลำโพง ที่เหมาะกับการเล่นไฟล์ Hi-Res Audio
ถ้าท่านเป็นคนหนึ่งที่สนใจในเทคโนโลยี แนะนำว่าไม่ควรพลาดอย่างยิ่งครับ ให้กดติดตามข่าวหรือ bookmark เว็บไซต์ของเราเอาไว้ได้เลยครับ