Network Music Streamer คืออะไร.?
ช่วงแรกทั้งวงการเครื่องเสียงจะงงๆ อยู่หน่อยว่า พอเครื่องเล่นซีดี (cd player) หมดไปจากโลก พวกเขาจะเล่นจะฟังเพลงยังไงกันต่อไป.? ผ่านมาอีกสอง–สามปี พอ คอมพิวเตอร์–ออดิโอ (computer audio) โผล่มา นักเล่น–นักฟังเพลงบางส่วนก็เริ่มมองเห็นแสงเลาๆ ที่ปลายอุโมงค์แล้ว ในขณะที่ส่วนใหญ่ก็ยังคงหลงวนอยู่ในความมืดต่อไป..
ต่อมา หลังจากคนกลุ่มหนึ่งเริ่มหันไปเล่นไฟล์เพลงผ่านโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์ร่วมกับ external USB-DAC และได้สัมผัสกับความงดงามของมาตรฐานเสียงระดับ Hi-Res Audio สักพัก อุปกรณ์เครื่องเล่นไฟล์เพลงอีกประเภทก็ก้าวเข้ามา มันคือ “เน็ทเวิร์ค มิวสิค สตรีมเมอร์” นั่นเอง
ก่อนจะอธิบายเรื่อง Music Streamer ของย้อนกลับไปสู่ยุคที่เล่นเพลงจากแผ่นซีดีด้วยเครื่องเล่นแผ่นซีดีกันก่อน จากภาพประกอบด้านบนจะเห็นว่า การเล่นเพลงจากแผ่นซีดีด้วยเครื่องเล่นซีดีเป็นลักษณะของการเล่นแบบ “หนึ่ง–ต่อ–หนึ่ง” นั่นคือ แผ่นซีดีเพลงหนึ่งแผ่นจะถูกใช้กับเครื่องเล่นซีดีได้แค่ทีละตัว ถ้าต้องการย้ายเพลงไปเล่นกับเครื่องเล่นซีดีตัวอื่น ก็ต้องหยิบแผ่นซีดีออกไปเปิดกับเครื่องเล่นซีดีตัวอื่น
คำว่า “Streaming” หมายถึงการ “ดึง” ไฟล์เพลงจากแหล่งต่างๆ มาเล่นได้ และในขณะเดียวกัน ก็ยังสามารถ “แชร์” เพลงที่เล่นให้ไหลเวียนไปในซิสเต็มต่างๆ ได้ เหมือนสายน้ำที่สามารถไหลไปได้ทั่วตามที่ผู้เล่นกำหนด โดยอาศัยระบบ Wi-Fi network เป็นตัวเชื่อมโยงในซิสเต็ม
อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่ใช้เป็นตัวหลักในการเล่นเพลงผ่านเน็ทเวิร์คมีชื่อเรียกเต็มยศว่า “Network Music Streamer” หรือจะเรียกสั้นๆ ว่า “Music Streamer” ก็ได้ ซึ่งลักษณะพิเศษของการฟังเพลงด้วยเครื่องเล่นที่เรียกว่า Music Streamer มีอยู่ 3 ประเด็นหลักๆ ที่ต่างจากการเล่นเพลงจากแผ่นซีดีด้วยเครื่องเล่นซีดีทั่วไป
อย่างแรกคือ “Multi Source” หมายถึงว่า ตัวเครื่องเล่น “มิวสิค สตรีมเมอร์” สามารถดึงเพลงมาฟังได้จากหลายแหล่ง ไม่เหมือนกับการฟังเพลงจากเครื่องเล่นซีดีที่เล่นได้เฉพาะสัญญาณเพลงที่อยู่ในแผ่นซีดีแหล่งเดียว ซึ่งจากรูปด้านบนจะเห็นว่า ไม่ว่าไฟล์เพลงจะถูกเก็บอยู่ในฮาร์ดดิสของตัวเครื่องเล่นเอง (A) หรือไฟล์เพลงที่เก็บอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ที่เชื่อมอยู่กับเน็ทเวิร์ค (B), หรือว่าไฟล์เพลงที่เก็บอยู่ในเซิร์ฟเวอร์แหล่งต่างๆ ที่อยู่บนอินเตอร์เน็ต (C) อย่างเช่น จากสถานีวิทยุบนอินเตอร์เน็ต (internet radio) รวมถึงไฟล์เพลงที่เก็บอยู่บนเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการ streaming service เจ้าต่างๆ อาทิเช่น TIDAL, Spotify, Apple Music หรือ Joox ก็สามารถดึงมาเล่นผ่านเครื่องเล่นประเภทมิวสิค สตรีมเมอร์ได้ทั้งหมด
เมื่อพิจารณาจากภาพแสดงลักษณะการทำงานของอุปกรณ์ที่เรียกว่า music streamer ข้างบนนั้น จะเห็นว่า ตัว music streamer ก็คือ source หรือแหล่งอินพุตแหล่งหนึ่งของชุดเครื่องเสียงนั่นเอง มันทำหน้าที่แบบเดียวกับเครื่องเล่นซีดี, เครื่องรับจูนเนอร์ และเครื่องเล่นแผ่นเสียง คือเล่น (playback) และนำส่งสัญญาณเสียงในรูปของสัญญาณอะนาลอกไปให้กับแอมปลิฟายเพื่อขยายกำลังขับออกไปทางลำโพงซึ่งเป็นด่านสุด
ความพิเศษอย่างที่สอง ของการฟังเพลงด้วยวิธี Streaming ก็คือการสั่งงานผ่านแอพลิเคชั่นที่โยงเข้าไปใน Wi-Fi network ด้วยระบบไร้สาย (wireless Wi-Fi network) ซึ่งให้ทั้งความสะดวก และยังช่วยเพิ่มประสบการณ์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจอีกด้วย
ให้นึกย้อนกลับไปในยุคที่เราเล่นเพลงจากแผ่นซีดีด้วยเครื่องเล่นซีดี หวังว่าทุกคนจะจำได้ว่า ในตอนนั้นเราใช้รีโมทไร้สายที่มากับเครื่องเล่นซีดีเป็นตัวกลางในการควบคุม–สั่งงานการเล่นเพลงจากแผ่นซีดี ตัวรีโมทไร้สายอาศัยสัญญาณอินฟราเรดในการนำส่งคำสั่งไปที่เครื่องเล่นซีดี ซึ่งรีโมทแต่ละตัวก็ถูกโปรแกรมใส่โค๊ดรหัสมาให้ใช้ได้กับเครื่องเล่นซีดีเฉพาะเครื่องที่กำหนดไว้เท่านั้น และมีฟังท์ชั่นพื้นฐานให้เราสั่งงานเครื่องเล่นซีดีเพียงแค่ไม่กี่อย่าง นั่นคือ Play (เล่นเพลง), Pause (หยุดเล่นชั่วคราว), Stop (หยุดเล่น), Fast forward (เลื่อนไปข้างหน้าอย่างเร็ว) & backward (เลื่อนไปข้างหลังอย่างเร็ว), Skip Track Next (ข้ามแทรคไปข้างหน้า) & Previous (ย้อนกลับไปแทรคก่อนหน้า), Shuffle หรือ Random (สุ่มเล่นแบบไม่เรียงลำดับแทรค), Program (เลือกตั้งให้เล่นตามต้องการ) และ Eject (เลื่อนแผ่นออกมาจากเครื่องเล่น)
เมื่อมาถึงยุคของการเล่นเพลงด้วยเน็ทเวิร์ค การควบคุมสั่งงานขณะเล่นเพลงก็ถูกเปลี่ยนไปจากยุคของซีดีเดิมทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ ในส่วนของฮาร์ดแวร์ซึ่งเห็นได้ชัดมาก นั่นคือ เปลี่ยนจากรีโมทไร้สายที่มักจะมาในลักษณะของแท่งพลาสติกสีดำๆ แถมมากับเครื่องเล่นซีดี ก็เปลี่ยนมาเป็นอุปกรณ์สื่อสารแบบพกพา อาทิ สมาร์ทโฟน หรือแท๊ปเล็ต ส่วนซอฟท์แวร์หรือโปรแกรมคำสั่งต่างๆ ก็ถูกเปลี่ยนมาอยู่ในรูปของ “แอพลิเคชั่น” (application) ที่ไปโหลดเอาจากอินเตอร์เน็ตได้ฟรี
ตัวกลางที่ใช้นำพา “คำสั่ง” ก็เปลี่ยนไป จาก “คลื่นอินฟราเรด” ที่ใช้กับรีโมทไร้สาย ก็เปลี่ยนมาเป็นคลื่น Wi-Fi ในการนำพาคำสั่งจากแอพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนหรือแท็ปเล็ตไปสู่เครื่องเล่นเน็ทเวิร์ค เพลเยอร์ โดยมีอุปกรณ์ที่ชื่อว่า “เร้าเตอร์” (router) ที่มีฟังท์ชั่น access point เข้ามาเป็นตัวเชื่อมโยง
“app remote”
กับประสบการณ์ใหม่ๆ ในการฟังเพลงที่เข้าถึงอรรถรสของเพลงมากยิ่งขึ้น
แอพลิเคชั่นที่ออกแบบมาให้ใช้ควบคุมสั่งงานแทนรีโมทไร้สายมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “app remote” และจากความสามารถของคลื่น Wi-Fi ทำให้คนทำแอพฯ รีโมทสามารถเพิ่มเติมฟังท์ชั่นพิเศษต่างๆ เข้าไปในคำสั่งได้มากขึ้น นอกเหนือจากฟังท์ชั่นพื้นๆ ที่รีโมทไร้สายของเครื่องเล่นซีดีเคยทำได้
จะยกตัวอย่างแอพฯ รีโมทตัวหนึ่งที่ถือว่าพัฒนาฟังท์ชั่นใช้งานออกมาได้มากกว่าแอพฯ ตัวอื่นๆ ในปัจจุบัน นั่นคือแอพฯ ที่ชื่อว่า “roon remote” หน้าตาแบบภาพด้านบนซึ่ง cop มาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ Mac mini ขณะควบคุมใช้งานจริง (รองรับการใช้งานบน OSX, Windows, iOS และ Andriods) ซึ่งแอพฯ ตัวนี้มาพร้อมซอฟท์แวร์ที่ใช้เล่นไฟล์เพลงที่ชื่อ roon เหมือนกัน (เป็นโปรแกรมลิขสิทธิ์ของค่าย roonlabs)
ลูกศรชี้ A นั้นคือจุดควบคุมการเล่นไฟล์เพลงด้วยคำสั่งมาตรฐานเหมือนรีโมทฯ ของเครื่องเล่นซีดี ส่วนตรงลูกศร B นั้นเมื่อจิ้มลงไปจะมีสไลด์ให้ปรับเพิ่ม/ลดความดังได้ ซึ่งรีโมทเครื่องเล่นซีดีส่วนใหญ่จะไม่มีฟังท์ชั่นนี้มาให้ถ้าไม่มีภาควอลลุ่มในตัว ที่จุด C นั่นใช้เปลี่ยน zone ที่ต้องการให้เพลงไปดังที่นั่น พูดง่ายๆ ก็คือ สามารถย้ายเอ๊าต์พุตได้ ซึ่งซีดีทำไม่ได้ สามจุดนี้เป็นฟังท์ชั่นที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการเล่นไฟล์เพลงของตัวมิวสิค สตรีมเมอร์ที่ใช้ซอฟท์แวร์ roon เป็นตัวเล่นไฟล์เพลง
ส่วนจุด D กับจุด E นั้นเป็นความสามารถพิเศษของแอพฯ รีโมทที่ชื่อว่า roon remote ตัวนี้ คือ ในขณะที่คุณกำลังเล่นไฟล์เพลงอยู่นั้น ไม่ว่าไฟล์เพลงที่คุณเล่น จะเก็บอยู่ในฮาร์ดดิสของตัว music streamer เอง หรือเก็บอยู่ในฮาร์ดดิสภายนอกที่เชื่อมอยู่กับเน็ทเวิร์คเดียวกับตัวมิวสิค สตรีมเมอร์ หรือว่าเป็นไฟล์เพลงที่คุณดึงมาจากเซิร์ฟเวอร์บนอินเตอร์เน็ต อย่างเช่นจาก TIDAL ถ้าตัวมิวสิค สตรีมเมอร์ที่คุณเล่นอยู่เชื่อมต่ออยู่กับเร้าเตอร์ที่มีโมเด็มเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ ตัว roon remote จะวิ่งออกไปค้นหาข้อมูลของเพลงที่คุณกำลังฟังมาแสดงให้คุณดูไปพร้อมกับฟังเพลงไปด้วย
อย่างเช่นจุด D ที่เป็นรูปไมโครโฟนนั้น ถ้าเป็นสีขาวแบบนี้ เมื่อคุณใช้นิ้วจิ้มลงไป จะปรากฏเนื้อเพลงของเพลงที่คุณกำลังฟังขึ้นมาให้ดู หรืออย่างจุด E ที่อยู่ในกรอบสีแดงนั้นก็คือข้อมูลเฉพาะของเพลงที่คุณกำลังฟัง ซึ่งมาทั้งแนวเพลง (genre), อัลบั้ม และถ้าอัลบั้มไหนมีคนรีวิวเอาไว้ แอพรีโมทตัวนี้ก็จะไปดึงรีวิวนั้นมาให้อ่านด้วย ใครสนใจแอพฯ รีโมทตัวนี้ คุณต้องใช้เครื่องเล่นมิวสิค สตรีมเมอร์ที่ใช้โปรแกรมเล่นไฟล์ของ roon ด้วย หรือจะใช้วิธีซื้อโปรแกรมเล่นไฟล์เพลง roon มาติดตั้งบนคอมพิวเตอร์เพื่อใช้เล่นไฟล์เพลงก็ได้ ไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ roonlabs
นี่คือไฮไล้ท์ของการเล่นไฟล์เพลงด้วย Music Streamer คือความสามารถในการโยนเพลงไปเล่นบนอุปกรณ์ music streamer ตัวอื่นๆ ที่เชื่อมต่ออยู่ในเน็ทเวิร์คเดียวกัน
ไฟล์เพลงที่เก็บอยู่ใน NAS ที่เชื่อมต่ออยู่ในเน็ทเวิร์ควงเดียวกัน ผ่านทาง router ตัวเดียวกัน โดยมีอุปกรณ์ Music Streamer สองตัวเชื่อมต่ออยู่กับ router ตัวเดียวกัน ตัวหนึ่งติดตั้งอยู่ในห้องรับแขก อีกตัวติดตั้งอยู่ในห้องนอน ไม่ว่าคุณจะนั่งอยู่ในห้องรับแขก หรือนอนเล่นอยู่ในห้องนอน เมื่อถือสมาร์ทโฟนหรือแท็ปเล็ตอยู่ในมือ คุณก็สามารถเลือกเพลงใดก็ได้ใน NAS มาฟังผ่านชุดเครื่องเสียงที่ติดตั้งอยู่ในห้องที่คุณกำลังเอกเขนกอยู่ด้วยความเพลิดเพลินใจแค่จิ้มปลายนิ้วเท่านั้นเอง
ช่วงแรก 3-4 ปีที่ผ่านมา นักเล่นเครื่องเสียงกลุ่ม Computer Hi-Fi ใช้คอมพิวเตอร์+โปรแกรมเล่นไฟล์เพลงเป็นชุดเพลย์แบ็คในการเล่นไฟล์เพลงกับ USB-DAC ร่วมกับแอมปลิฟายและลำโพงในซิสเต็มเดิม ในขณะนั้น การเล่นไฟล์เพลงผ่าน Network ยังคงอยู่ในระยะตั้งไข่ มาตรฐานกำลังถูกปรับปรุงทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์
ปัจจุบันนี้ ระบบการเล่นไฟล์เพลงด้วย Network ได้เดินทางมาถึงจุดลงตัวหมดแล้ว ทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ ซึ่งแน่นอนว่า Network Audio จะเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมในการฟังเพลงไปจากเดิม และแน่นอนว่า จำนวนของอุปกรณ์เครื่องเล่นไฟล์เพลง Network Music Streamer ที่เล่นผ่านระบบเน็ทเวิร์คจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และมีให้เลือกซื้อหลายระดับราคา นับจากนี้เป็นต้นไป /